รถไฟฟ้า-ถนนบูมลำลูกกา "หมอชิต-คูคต" คืบ 6.36%

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 21 พฤษภาคม 2559
คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

เดินหน้าตอกเข็มมาตั้งแต่กลางปี′58 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" ระยะทาง 18.7 กม. ลงทุนกว่า 58,878 ล้านบาท

ปัจจุบันงานก่อสร้าง 4 สัญญา ณ วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้า 6.36% ล่าช้าจากแผนงาน 0.52% แยกเป็น "สัญญาที่ 1" งานโครงสร้างทางวิ่งช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ 11.4 กม. และ 12 สถานี ไซต์งานก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ วงเงิน 15,269 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 7.83% ล่าช้าจากแผน 0.44%

"สัญญาที่ 2" งานโครงสร้างทางวิ่งช่วงสะพานใหม่-คูคต 6.8 กม. และ 4 สถานี ของกลุ่มกิจการร่วมค้า UN-SH-CH (ยูนิคฯ-ซิโนไฮโดร-ไชน่าฮาร์เบอร์) วงเงิน 6,657 ล้านบาท คืบหน้า 5.34% ล่าช้าจากแผนงาน 1.27%

"สัญญาที่ 3" งานศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง ของกลุ่มกิจการร่วมค้า STEC-AS Joint Venture (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ เอ.เอส.แอสโซซิเอทฯ) วงเงิน 4,019 ล้านบาท คืบหน้าตามแผน 4.20%

และ "สัญญาที่ 4" งานวางระบบรางของกลุ่มซิโน-ไทยฯ และ เอ.เอส.แอสโซซิเอทฯ วงเงิน 2,841 ล้านบาท คืบหน้า 3.94% เร็วกว่าแผน 0.10% ตามที่ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" กำหนดสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการเดือน ก.พ. 2563

เมื่อก่อสร้างเสร็จจะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อใจกลางเมืองกับชานเมืองสะดวกมากขึ้น แนวเส้นทางจะต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่หมอชิต แล้วข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ แยกหลักสี่ เชื่อมกับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอดแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึง กม.ที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางตัดเบี่ยงไปทางด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ ข้ามคลองสอง ผ่านบริเวณด้านข้างสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่เกาะกลางถนนลำลูกกา สิ้นสุดบริเวณคลองสอง สุดปลายทางที่สถานีคูคต มีอาคารจอดรถบนพื้นที่ 130 ไร่

โดยมี 16 สถานี ได้แก่ 1.สถานีห้าแยกลาดพร้าว อยู่หน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว 2.สถานีพหลโยธิน 24 ปากซอยพหลฯ 24 3.สถานีรัชโยธิน ที่สี่แยกรัชโยธิน 4.สถานีเสนานิคม ปากซอยเสนาฯ5.สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6.สถานีกรมป่าไม้ 7.สถานีบางบัว ที่โรงเรียนบางบัว 8.สถานีกรมทหารราบที่ 11

9.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่ (เชื่อมรถไฟฟ้าสีชมพู) 10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ ที่ซอยพหลฯ 57 11.สถานีสายหยุด บริเวณซอยสายหยุด 12.สถานีสะพานใหม่ หน้าตลาดยิ่งเจริญ 13.สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช หน้าโรงพยาบาลและกรมแพทย์ทหารอากาศ 14.สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 15.สถานี กม.25 บริเวณหลัก กม.25 ถนนพหลโยธิน และ 16.สถานีคูคต บริเวณสถานีตำรวจภูธรคูคต

ขณะเดียวกัน ทาง รฟม.ยังได้ทุ่ม 615 ล้านบาท ตัดถนนเลียบโครงการ (โลคอลโรด) 4 ช่องจราจร 2.4 กม. สร้างคู่ขนานกันเพื่อเชื่อมต่อ 2 ถนน "พหลโยธิน-ลำลูกกา" ช่วงบริเวณสถานี กม.25 เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเดินทางจากถนนลำลูกกาเข้าสู่อาคารจอดรถที่สถานี กม.25 อีกทั้งช่วยให้ประชาชนมีทางออกจากถนนลำลูกกาเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาปัญหาการจราจรด้วย