ผ่ากฎหมายภาษีทีดินฯ ลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มรายได้อปท.

Cr. ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์ 13 มิถุนายน 2559

ในที่สุด...รัฐบาล “ท็อปบู๊ต” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ตัดสินใจเดินหน้ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กันทีเดียว

เหล้าเก่าในขวดใหม่

ต้องยอมรับว่า “กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกฎหมายที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีรัฐบาลในยุคใดสามารถผลักดันได้จนสำเร็จ แม้ว่าในบางยุคบางสมัย สามารถผลักดันมาได้จนถึง ครม.เห็นชอบแล้ว แต่ปรากฏว่า...พอจ่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กลับเป็นอันต้องตกไปโดยปริยาย เพราะรัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาหนีปัญหาการเมืองไปเสียก่อน หรือบางยุคบางสมัย ก็เดินหน้าไม่ได้ตั้งแต่ต้นทางไปเลยก็มี เพราะดันไปขัดผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล ของผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองเข้าให้ กฎหมายฉบับนี้ จึงได้แต่อยู่ในลิ้นชัก...ไม่สามารถเดินหน้าได้เสียที

แก้แล้วแก้อีกให้ตรงเป้า

จน...มาถึงยุคนี้ ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดินหน้าทำคลอดกฎหมายได้สำเร็จ โดยเฉพาะขุนคลังอย่าง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” แม่ทัพใหญ่ ที่ออกโรงเดินหน้าผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แบบชนิดที่เรียกว่า “แก้แล้วแก้อีก” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนคนไทยทุกคน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเป้าหมายใหญ่ของ “รัฐบาลพิเศษ”

ไม่เพียงเท่านี้ หากทุกหน่วย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้รัฐบาลกลางมีเงินงบประมาณเหลืออย่างน้อยกว่า 64,000 ล้านบาท ไปทำอย่างอื่นแทนที่จะต้องจัดสรรเงินให้กับ อปท. ที่ใครต่อใครก็รู้ว่าประสิทธิภาพการใช้เงินงบประมาณมีอยู่อย่างจำกัดเสียเหลือเกิน

ชีวิตคนไทยดีแน่

เรียกว่าอย่างน้อย...รัฐบาลกลาง ก็มีเงินเหลือที่จะไปสร้างถนนหนทาง ไปสร้างรถไฟทางคู่ ไปสร้างสนามบิน หรืออีกมากมายสารพัด เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ นั่น...หมาย ความว่า “ชีวิตความเป็นอยู่” ของคนไทยย่อมดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน

การผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ แม้ตามหลักของกฎหมายภาษีแล้ว หลายคนอาจมองว่าไม่ถูกต้องนัก  เพราะมีข้อยกเว้นมากมาย ที่อาจทำให้เจตนาหรือเป้าหมายของภาษีเปลี่ยนไป แต่ก็เชื่อว่า...คงถูกใจคนไทยเป็นส่วนใหญ่...ด้วยเหตุผลที่ว่า ’คนไทยเกือบทั้งประเทศ“ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการยกเว้นภาษีของบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ก็มีอยู่เพียง 8,556 หลังเท่านั้น ที่ต้องรับภาระภาษี (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 56) และในเมื่อมีเงินซื้อบ้านหลังละ 50 ล้านบาทได้ ก็ควรที่จะเสียภาษีได้ใช่หรือไม่? ขณะที่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยก็ไม่ต้องสะทกสะท้านใด ๆ เพราะที่ดินกว่า 99.99% ของเกษตรกรในเวลานี้มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาททั้งนั้น ขณะที่ ’เจ้าบ้าน“ กว่า 99.96% ก็มีบ้านไม่เกิน 50 ล้านบาท เช่นกัน...

แม้ “ขุนคลัง” จะออกแจงว่าการออกกฎหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับฐานะของรัฐบาล แต่เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย... ที่สำคัญยังช่วยให้ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีและเลี้ยงดูตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องคอยพึ่งพิงรายได้จากรัฐบาลกลางแต่เพียงอย่างเดียว นั่นหมายความว่า...“ท้องถิ่น” จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ไม่ปฏิเสธไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า การลงแรงจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ครั้งนี้ มีผลทำให้รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณในแต่ละปีได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้น้อยกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้งบประมาณเพื่อดูแลความเป็นอยู่ประชาชนมีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น...การเลือกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป จะช่วยเพิ่มรายได้ในการเก็บภาษีในปีแรกได้ทันทีถึง 64,290 ล้านบาท จากเดิมที่การเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ฯ นั้นทำได้เพียง 38,318 ล้านบาทเท่านั้น

แยกเก็บ 4 ประเภท

สำหรับอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ เกษตรกรรม มีอัตราเพดาน 0.2% จัดเก็บภาษีตามมูลค่า ตั้งโดยส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% ของฐานภาษี และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1%, ประเภทที่พักอาศัยหลัก อัตราเพดานสูงสุด 0.5% โดยบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บ 0.1% ส่วนบ้านหลังที่ 2 เก็บ 0.3% ตั้งแต่บาทแรกก่อนปรับเป็นระดับตามมูลค่าจนถึง 0.3% ประเภทพาณิชยกรรม อัตราเพดาน 2% จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ตั้งแต่บาทแรกถึง 20 ล้านบาท จัดเก็บ 0.3% ไปจนถึง 1.5% และสุดท้ายที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน มีอัตราเพดานสูงสุด 5% จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี คือปีที่ 1-3 จัดเก็บ 1% ปีที่ 4-6 เก็บ 2% และปีที่ 7 เป็นต้นไป จัดเก็บ 3%

ส่วนสาเหตุที่ได้กำหนดส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น ทั้งประเภทเกษตรกรรมและประเภทที่พักอาศัยหลักเพราะกระทรวงการคลังเชื่อว่าประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยเกินกว่า 50 ล้านบาทคงไม่มีทางจนแน่นอนแต่หากมีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 จะต้องเสียตั้งแต่บาทแรกทันทีประโยชน์หลักของการจัดเก็บภาษีคือการลดความเหลื่อมล้ำผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ กระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และเพิ่มรายได้อปท.มีรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

อุ้มผู้เสียภาษี

อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้มาจากการรับมรดกผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้และกิจการสาธารณะโดยกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจากการรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะได้รับการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียพร้อมให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปีให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง

ขณะเดียวกันยังให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษีสำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขายที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของเป็นเวลา 3 ปีนับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเป็นระยะเวลา 5 ปีพร้อมทั้งให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 75% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียสำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาลและโรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดหรือรมว.มหาดไทยเพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคารบ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลายด้วย

ประเมินที่ดินชัดเจน

ทั้งนี้หลังจากกฎหมายออกมาแล้วจะมีกฎกระทรวงออกมากำหนดวิธีการประเมินซึ่งแตกต่างจากเดิมที่มีการประเมินตามดุลพินิจเพราะจะกำหนดวิธีการอย่างชัดเจนคือที่ดินจะมีการประเมินจากกรมธนารักษ์ ส่วนสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดประเภทเอาไว้หลัก 7 ประเภทแล้ว จากนั้นก็ประเมินมูลค่าเป็นตารางเมตรว่าจะต้องเสียเท่าไหร่

แต่ถ้าเป็นสิ่งปลูกสร้างในลักษณะพิเศษก็ต้องใช้บริษัทประเมินภายนอกมาทำการประเมินและเมื่อจัดเก็บภาษีแล้วจะนำเงินที่ได้ให้กับท้องถิ่นไปพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ส่วนกรณีของบ้านที่เป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นแต่ชั้นล่างมีการค้าขายในส่วนแรกคือชั้นที่ 2-4 เป็นที่พักอาศัยหากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่ในชั้นล่างที่ประกอบกิจการต้องเสียภาษีในประเภทพาณิชยกรรมด้วยซึ่งจะจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สินส่วนการจะคิดภาษีจากคนที่เสียนั้นจะดูจากกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ครอบครองเป็นหลัก

แม้กฎหมายภาษีที่ดินฯ จะผ่านความเห็นชอบของ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ ไปแล้ว แต่ใช่ว่าจะรวบรัดเดินหน้าออกกฎหมายได้ทันที เพราะยังต้องรอความเห็นจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.กันก่อน เพราะไม่ได้หมายความว่า “ตุ๊กตาภาษี” ที่รัฐบาลตั้งไว้ ทาง สนช.จะเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งต้องรอดูว่า...สุดท้ายแล้วกฎหมายประวัติศาสตร์ฉบับนี้จะกลายเป็นเพียง “สัญลักษณ์” เช่นเดียวกับ “ภาษีมรดก” หรือไม่?