โบรกส่อง 3 กลุ่มหุ้นสะดุดภาษีที่ดิน "พาณิชย์-อสังหาฯ-นิคม" ฉุดผลงานปี′60/ไม่แนะซื้อ

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 14 มิถุนายน 2559

คุณเผดิมภพ สงเคราะห์

คุณเผดิมภพ สงเคราะห์

นักวิเคราะห์ชี้ กม.ภาษีที่ดินพ่นพิษ 3 กลุ่มหุ้น "พาณิชย์-อสังหาฯ-นิคม" คาดฉุดกำไรปี′60 ร่วง โดยเฉพาะกลุ่มพาณิชย์ลดราว 2% ตามด้วยกลุ่มอสังหาฯ 0.4% ส่วนนิคมผลักภาระให้ลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเก็บภาษีอัตรา 0.05-0.1% ของราคาประเมิน ส่วนบ้านหลังที่ 2 ตั้งแต่มูลค่า 1 บาทแรก-ไม่เกิน 5 ล้านบาท เก็บภาษีอัตรา 0.03-0.30% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์เก็บภาษีอัตรา 0.3-1.5% ที่ดินว่างเปล่าเก็บภาษีอัตรา 1-3% ส่วนที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกแต่เกิน 50 ล้านบาทจะลดภาษีให้ 50% หากทำการโอนก่อน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯประกาศใช้ โดยคาดว่าจะมีผลประกาศใช้ปี 2560

นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสินกล่าวว่า จากการวิเคราะห์พบว่าหุ้น 3 กลุ่มหลักที่จะได้รับผลลบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินดังกล่าว ได้แก่ ผู้ประกอบการในกลุ่มพาณิชย์จะมีต้นทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ของกำไรสุทธิในปี 2560 เช่น บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) จะได้รับผลกระทบต่อผลดำเนินงานมากสุดประมาณ 5% และ 4% ของประมาณการกำไรสุทธิในปี 2560 เพราะมีสัดส่วนกำไรสุทธิต่อมูลค่าทรัพย์สินประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระดับต่ำ ขณะที่ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) จะได้รับผลกระทบน้อยสุดเพียง 1% เพราะใช้เงินลงทุนต่อสาขาต่ำ 5 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายอัตราภาษีที่ดินแบบใหม่ 0.3% เทียบกับเงินลงทุนต่อสาขาของผู้ประกอบการรายอื่นที่จะจ่ายประมาณ 0.9%

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ "คงน้ำหนักการลงทุน" (NEUTRAL) โดยเน้นคัดเลือกหุ้นลงทุนแบบรายหลักทรัพย์ เพราะราคาหุ้นของกลุ่มนี้ปรับขึ้นค่อนข้างแรงใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา จนหลายบริษัทเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในกรอบที่จำกัด

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์พบว่า จะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดเช่นกัน แม้ว่าตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างพัฒนาจะเสียอัตราภาษีที่ 0.05% แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก เพราะคิดเป็นภาษีที่จ่ายต่อปีของทั้งกลุ่มเพียง 140 ล้านบาท หรือจะทำให้ผลกระทบต่อกำไรกลุ่มอสังหาฯปี 2560 ลดลงเพียง 0.4% ของประมาณการกำไรสุทธิ 2560 โดยยัง "คงน้ำหนักการลงทุน" หุ้นกลุ่มนี้

"กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าแม้บริษัทจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไว้ก่อน (ก่อนขายที่ดิน) แต่สุดท้ายบริษัทจะผลักภาระให้กับลูกค้าผ่านราคาขายที่ดินได้ ส่วนในระยะสั้นคาดว่าบริษัทในกลุ่มอาจมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการทำธุรกรรมให้เช่าที่ดินกับบริษัทย่อย เพื่อให้มีรายได้ค่าเช่ามาหักกลบกับค่าใช้จ่ายภาษีที่จะเกิดขึ้น จึงยังคงน้ำหนักการลงทุน" นายคณฆัส

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการสายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทยประเมินว่า แม้โดยภาพรวมจะส่งผลให้ บจ.บางกลุ่มมีต้นทุนเพิ่มเล็กน้อย แต่หากอีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่น่าจะทำให้ผู้ถือครองที่ดินอาจตัดสินใจขายให้แก่ บจ.ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะหากที่ดินนั้นอยู่ในบริเวณที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทยัง "คงน้ำหนักการลงทุน" เพราะกลุ่มนี้ยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก