Cr. ฐานเศรษฐกิจ 30 พฤศจิกายน 2558
กูรูประเมินราคาฯ แนะจับตาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ จ่อปรับเพิ่มสูงถึง 3 แสนบาท/ตร.ว. เผยที่ดินแปลงในซอยยังมีโอกาสพัฒนาโครงการบ้านแนวราบ หนุน ร.ฟ.ม. เร่งพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันเปิดบริการปลายปี 59 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการ ล่าสุด ร.ฟ.ม.เตรียมยื่นคมนาคมหวังขับเคลื่อนก่อนขยายสู่เส้นทางอื่น
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ การก่อสร้างเส้นทางเสร็จแล้ว ทั้งเตรียมทดสอบรถไฟฟ้าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เดือนสิงหาคม ปี 2559 นั้น พบว่าราคาประเมินที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาประเมินใหม่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี 2559 นี้ บางทำเลราคาอาจขยับจาก 1-1.5 แสนบาทต่อตร.ว. เป็น 2-3 แสนบาทต่อตร.ว. โดยเฉพาะพื้นที่เตาปูน- ติวานนท์- แคราย- รัตนาธิเบศร์ที่เป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะมีบทบาทเปลี่ยนเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น
ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ม.) เร่งพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามพื้นที่สถานีต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรถไฟฟ้าและนำรายได้ไปพัฒนาเส้นทางอื่น ลดการใช้งบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ยังเป็นโอกาสของการเติบโตด้านอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่จะเห็นภาพชัดเจนกว่าสายอื่นๆ โดยเฉพาะโครงการบ้านแนวราบที่อยู่ห่างจากถนนเมนเข้าซอยประมาณ 3-5 กิโลเมตร ระดับราคา 3-5 ล้านบาทยังเกิดขึ้นได้อีก แพงสุดอาจอยู่ระดับ 10 ล้านบาท
นอกจากนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวสายสีม่วงของภาครัฐนั้น เคยมีการศึกษาถึงแนวการพัฒนาพื้นที่สถานีคลองบางไผ่รองรับไว้แล้ว โดยให้การเคหะแห่งชาติ(กคช.) พัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยเพื่อหารายได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ประการสำคัญหากสามารถพัฒนาแต่ละสถานีให้มีมูลค่า 4 – 5 หมื่นล้านบาท ก็จะสามารถนำงบประมาณเหล่านั้นไปใช้พัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆได้อีก หรือชดเชยการเวนคืนที่ดินแปลงนั้นๆได้อย่างเป็นที่พึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.5 เท่าของราคาตลาด
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของ ร.ฟ.ม. กล่าวว่า เรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ได้เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคมให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเร่งผลักดันนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการ จะได้ทันต่อการเปิดให้บริการในปี 2559 เมื่อสายสีม่วงประสบความสำเร็จก็จะทยอยไปดำเนินการกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,109
วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558