เทคโนโลยีเมดอินเจแปน มาแล้ว! เข้าป้ายสาย "สีม่วง-สีแดง"

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 5 เมษายน 2559

ในที่สุดผู้ผลิตรถไฟฟ้าจากแดนปลาดิบ ก็เข้ามาตีตลาดประเทศไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นับจากส่งออกขบวนรถไฟดีเซลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย

จากการริเริ่มของ "บีอีเอ็ม-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ" ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ตัดสินใจสั่งซื้อผ่านกลุ่มกิจการร่วมค้ามารุเบนิ-โตชิบา

จัดหาขบวนรถไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม และติดต่อสื่อสารให้ โดยมี "J-TREC" หรือ บจ.เจแปน ทรานสปอร์ตเอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้าและมี "JR-East" หรือ บจ.อีสต์เจแปน เรลเวย์ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น รับผิดชอบบำรุงรักษา 10 ปี

หลังหลายปีที่ผ่านมาเทใจให้ "ซีเมนส์" ยักษ์ใหญ่จากประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก

สำหรับรถจะนำมาบริการ มี 21 ขบวน ๆ ละ 3 ตู้ ถูกดีไซน์ให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. รองรับผู้โดยสารได้ 921 คน/ขบวน ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า

รูปโฉมจะไม่ทันสมัยหรือเฉี่ยวมาก เพราะ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" กับบีอีเอ็ม จะเน้นความคงทนและฟังก์ชั่นการใช้งานในระยะยาวมากกว่า เช่น เพิ่มราวจับ รองรับผู้โดยสารกว่า 1 แสนเที่ยวคน/วัน

ด้านขบวนรถจะผลิตจากสเตนเลสทั้งคันและปิดทับด้วยแผ่นไวนิล ทำให้มีอายุการใช้งานนาน ที่สำคัญต้นทุนซ่อมบำรุงไม่สูง ขณะเดียวกันเน้นสีสันให้ดูสดใส นำ "สีม่วง" มาตกแต่งทั้งภายใน-ภายนอก

ขณะนี้ "รฟม." กำลังทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้ประชาชนร่วมใช้บริการเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ช่วงเวลาเช้าและเย็น จากนั้นเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 12 ส.ค. 2559 เก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 16-42 บาท

อีกรายเพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงของ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ที่เลือกกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-ซูมิโตโม) เป็นผู้ออกแบบสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องกล จัดหาตู้รถไฟฟ้า ในลักษณะจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จในสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 32,399 ล้านบาท หลังต่อรองราคามายาวนาน 4 ปี

โดยมี "มิตซูบิชิ" จะรับผิดชอบงานออกแบบและจัดหาระบบ ส่วน "ฮิตาชิ" จะรับผิดชอบออกแบบและผลิตตู้รถไฟฟ้า และ "ซูมิโตโม" รับผิดชอบงานธุรการและงานติดตั้งระบบ จะใช้เวลา 4 ปีดำเนินการ แล้วเสร็จในปี 2563

สำหรับรถจะนำมาวิ่งบริการ มีทั้งหมด 25 ขบวน ๆละ 4-6 ตู้ แยกเป็นช่วงบางซื่อ-รังสิต 10 ขบวน ๆ ละ 4 ตู้ และ 7 ขบวน ๆ ละ 6 ตู้ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 8 ขบวน ๆ ละ 6 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ยสูงสุด 1,114-1,696 คน/ขบวน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. มีระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนเหมือนกับแอร์พอร์ตลิงก์

จากม็อกอัพที่นำเสนอ ดูสีสันสดใส ภายนอกแต่งด้วย "สีแดง" ส่วนภายในเบาะนั่งเป็นสีฟ้า แต่ยังเป็นแค่แบบตัวอย่าง ส่วนตัวจริงจะสวยแค่ไหนไม่นานเกินรอ