Cr. ประชาชาติธุรกิจ 4 เมษายน 2559
กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล (ซ้าย) ดร.เชาว์ เก่งชน (ขวา)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยไม่ห่วงบ้านประชารัฐเพิ่มหนี้ครัวเรือน เชื่อรัฐชั่งน้ำหนักแล้ว สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยชี้แบงก์ระวังเต็มที่ ด้านภาคอสังหาฯเชื่อปี′59 เศรษฐกิจฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำช่วยหนุน ปัจจัยลบที่ดินแพง
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่มีความกังวลว่านโยบายบ้านประชารัฐ ซึ่งรัฐบาลจัดสรรวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบผ่อนปรน 4 หมื่นล้านบาทผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามมา
บ้านประชารัฐมีผลหนี้ครัวเรือน
มองว่านโยบายบ้านประชารัฐอาจทำให้อัตราหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจริง ตามปกติเมื่อมีผู้กู้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจะทำให้หนี้ครัวเรือนสูง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาครัฐได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าวัตถุประสงค์หลักของบ้านประชารัฐคือ ให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการมีที่อยู่อาศัยและมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง
"ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียที่ต้องแลกกัน ไม่น่ากังวลใจ เพราะดอกเบี้ยไทยปีนี้จะยังไม่ปรับสูงขึ้น และโครงการบ้านประชารัฐให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6 ปี แรงกดดันจะเกิดขึ้นกับผู้ผ่อนชำระในปีที่ 7 ถ้าขณะนั้นอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับขึ้นสูงและเกิดปัญหา อาจจะต้องดูเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ ตอนนี้เร็วไปที่จะพูด"
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า บ้านประชารัฐอาจทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ผลลบที่กังวลมองในด้านกำลังซื้อของผู้กู้มากกว่า อาจกระทบกำลังซื้อสินค้าอื่นแทนได้ หรือกรณีที่เศรษฐกิจผันผวนอาจเกิดปัญหาหนี้เสียได้ง่ายขึ้น แต่เชื่อว่า ธนาคารมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดหนี้เสียมากอยู่แล้ว โดยพิจารณาปล่อยกู้มีความเข้มงวด ตรวจสอบประวัติลูกค้า หากมีประวัติผิดนัดชำระ มีโอกาสเป็นหนี้เสียมาก ธนาคารมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่อนุมัติ
ปี′59 อสังหาฯโตตามเศรษฐกิจ
น.ส.บัณฑรโฉม แก้วสะอาด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวบนเวทีสัมมนา "สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน ปี 2559" จัดโดยสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ปี 2558 ภาคอสังหาริมทรัพย์สร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 9 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีการขยายตัว 4.1% สูงกว่าจีดีพีประเทศซึ่งเติบโต 2.8% ในปี 2558
โดยภาคอสังหาฯ เป็นเซ็กเตอร์ที่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หากเศรษฐกิจมีการขยายตัว จะเติบโตสูงขึ้นมากกว่า แต่หากเศรษฐกิจหดตัวลงจะทำให้ภาคอสังหาฯหดตัวรุนแรงได้
ในปี 2559 กระทรวงการคลังประมาณการว่า จีดีพีประเทศไทยจะเติบโต 3.7% สูงขึ้นกว่าปีก่อน เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนและเอสเอ็มอีและโครงข่ายคมนาคมของรัฐเอง ซึ่งเป็นผลบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ
ภาคอสังหาฯจะได้รับอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับต่ำและนโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนคือ มาตรการรัฐเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาฯ และโครงการบ้านประชารัฐ นอกจากนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณานโยบายด้านสินเชื่ออื่นๆ อีกคือ การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังในปีนี้คือ หนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ที่ 80.8% ต่อจีดีพี ทำให้ธนาคารเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อ
ระวังราคาที่ดิน
ดร.เชาว์ เก่งชน กล่าวเสริมว่า ปัจจัยจะมีผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในอนาคต ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือน ได้คาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยปีนี้จะยังทรงตัวในระดับต่ำ คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ช่วงปี 2561-2562 ในปี 2562 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจสูงขึ้นแตะ 3.25%
และคาดการณ์แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยจะยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการรัฐช่วยกระตุ้นและอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ขาขึ้น โดยปี 2558 มีอัตรา 81.5% ต่อจีดีพี ปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 83.5% ต่อจีดีพี และปี 2563 หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อสูง และหนี้ครัวเรือนจะแตะ 88% โดยการเติบโตของหนี้ครัวเรือนเกิดจากสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
ซึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาคอสังหาฯคือ แนวโน้มราคาที่ดินเติบโตเร็วกว่าราคาขายโครงการ ในปี 2555-2558 ราคาที่ดินเติบโต 10% ขณะที่ราคาบ้านเดี่ยวโต 5.4% ทาวน์เฮาส์ 7.9% อาคารชุด 6.8% สะท้อนว่าต้นทุนที่ดินสูงขึ้น เป็นโจทย์ให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม