บขส.เล็งชงบอร์ดขอเปิดจัดหาที่ดินสร้างสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ที่รังสิตรอบ 3 หลังเปิดมา2 รอบไม่มีที่ดินตรงตามคุณสมบัติ พร้อมเสนอบอร์ดขอปรับแก้รายละเอียดให้ครอบคลุมพื้นที่จากบางเขนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตามแนวถนนพหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก
แหล่งข่าวระดับสูงของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรณีที่ได้ประกาศให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ของบขส. หรือหมอชิตในพื้นที่ย่านรังสิตไปแล้ว 2 รอบแต่ไม่มีที่ดินแปลงใดตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยพบว่ายังมีผู้เสนอที่ดินในโซนที่มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน และยังพบว่าเป็นที่ดินแปลงถนนพหลโยธินฝั่งขาออกเท่านั้น ไม่มีผู้ยื่นเสนอที่ดินฝั่งขาเข้าแต่อย่างใด บขส.จึงเตรียมขอยกเลิกการประกาศดังกล่าว โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้ง 2 ครั้ง เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เพื่อขออนุมัติประกาศใหม่ในรอบที่ 3 ต่อไป
นอกจากการเสนอบอร์ดยกเลิกการประกาศในครั้งที่ 2 แล้วยังจะเสนอให้มีการปรับขอเสนอประกาศในรอบที่ 3 โดยเฉพาะประเด็นหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บางเขนไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้ง 2 ฝั่งของถนนพหลโยธิน เพื่อให้เปิดกว้างพื้นที่มากขึ้น แต่ยังคงความเหมาะสมตรงตามคุณสมบัติที่ บขส.ต้องการ
“เนื่องจากเห็นว่าแนวที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีนำเสนอนั้นมีข้อจำกัดมากเกินไปว่าพื้นที่จะต้องติดอยู่กับถนนพหลโยธินเท่านั้น ควรเปิดกว้างมากกว่านี้เพื่อให้รายอื่นได้เสนอที่ดินในแปลงที่สนใจ เนื่องจากโซนดังกล่าวจัดเป็นพื้นที่ในแนวสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านโดยส่วนใหญ่ อีกทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งทางด่วนอุดรรัถยาก็พบว่าไม่ได้มีการนำเสนอเข้ามาให้พิจารณาจึงต้องรายงานข้อเท็จจริงให้ทางบอร์ดทราบต่อไป”
ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ในเขตพื้นที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยกล่าวว่า เป็นการเปิดตัวศูนย์ซ่อมบำรุง ในพื้นที่ จำนวน 45 ไร่ ซึ่งให้บริการซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถยนต์โดยสารทุกประเภท ยกเว้นรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ให้บริการปรับตั้งศูนย์ถ่วงล้อ จำหน่ายและบริการถอดเปลี่ยนยาง ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ช่างฝีมือที่มีประสบการณ์ พร้อมทั้งรับประกันการซ่อมในระยะเวลา 60 วัน อีกทั้งยังให้บริการรับชำระภาษีรถประจำปีด้วย
นอกจากนี้ บขส. ยังจะปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเบื้องต้น บขส. ได้ประสานงานกับกรมทางหลวงให้จัดทำป้ายบอกทางและป้ายทางเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น เดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็ว
สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมบำรุง ในปี 2558 มีรายได้จำนวน 1.774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 290% และมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น 70% โดย บขส. จะดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกี่ยวกับศูนย์ซ่อมบำรุง บขส. ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,100 วันที่ 29 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558