ไม่บ่อยนักที่ “อนันต์ อัศวโภคิน” ประธานคณะกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)(LH) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย จะออกมาให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ล่าสุดได้ขึ้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานสัมมนา “ภูเก็ต เจาะลึกปัจจุบัน ไล่ให้ทันอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับ AREA ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจดังนี้
ตลาดภูเก็ต อ่อนตัวชั่วคราว
ภาวะอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตในปัจจุบันแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปีที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นสถาบันการเงินก็มีปัญหาด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ตัวเลขรายได้หดหายไป 30-40% ภาคใต้มากที่สุดดอกเบี้ยเงินกู้ตกประมาณ 15 % กทม.ประมาณ 7-8 % แต่วันนี้ปัญหาไม่ถึงกับหนักหนามาก ช่วงนี้น่าจะเป็นภาวะอ่อนตัวชั่วคราว หากผู้ประกอบการรายใดมีปัญหา แนะนำให้เจรจากับธนาคารโดยตรง เนื่องจากสภาพคล่องมีค่อนข้างมาก
ประการสำคัญปัญหาที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ประสบอยู่ คือการขอสินเชื่อไม่ผ่าน ยอดปฏิเสธสินเชื่อ หรือยอดรีเจ็กต์สูง 30-40% ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารออมสิน ควรจะเข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้โดนรีเจ็กต์กันมากกว่านี้ ขณะเดียวกันผู้ที่จะซื้อบ้านช่วงนี้ควรจะรู้ศักยภาพของตัวเอง
ภาวะภูเก็ตในปัจจุบัน โอกาสที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นได้อีกหรือไม่นั้น บอกเลยว่าไม่มี ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิตีมอลล์ ค้าปลีก หอประชุม หลายห้างเปิดมาก็ขายดีเฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น ส่วนรายที่บอกว่าจะลงทุนขนาดใหญ่ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการลงทุนใด ๆ อีกทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลก็ไม่มีเม็ดเงินกำกับไว้ชัดเจน เป็นการประคองเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงคือไม่มีเงินหมุนเวียนในตลาดแต่อย่างใด ส่วนการส่งออกที่ติดลบไปก็ไม่เยอะ เป็นเพราะเกิดจากภาครัฐไม่ลงทุน ภาคเอกชนไม่ลงทุน ท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
มาตรการกระตุ้นมุ่งช่วยผู้ซื้อ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ทดสอบตลาดใหม่ เข้าตลาด 30 ล้านบาทและ 50 ล้านบาทขึ้นไป พบว่าตลาดยังมีงบประมาณอยู่ สังเกตว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯกำไรดีขึ้นแทบทั้งหมด ปัญหาจริง ๆ คือคนขายขาดความมั่นใจ ปัจจุบันมีเงินแต่ไม่นำออกมาใช้ เก็บไว้ในธนาคาร ดอกเบี้ยน้อยก็ยอม เงินจึงล้นธนาคาร แต่ราคาที่ดินไม่มีตก เพราะว่าดอกเบี้ยต่ำมาก มีที่ดินไปอยู่ในมือดีเวลอปเปอร์ที่ไม่เดือดร้อน เก็บที่ไว้ก่อน ยกตัวอย่างถนนสุขุมวิทไปจนถึงสะพานพระโขนง ราคาตารางวาละล้านบาท ในซอยอโศกยังตารางวาละ 1.9 ล้านบาท โซนนั้นราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 4-5 แสนบาท ถือไว้ก็ไม่เดือดร้อน
“มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลนั้น คิดว่าจะช่วยผู้ซื้อบ้านมากกว่าที่จะช่วยดีเวลอปเปอร์ เพื่อให้กู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งวงเงินมีจำกัด และธนาคารของรัฐจะถูกผลักดันให้สามารถปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ส่วนธนาคารเอกชนไม่ปฏิบัติตามก็ได้ แต่ก็จะเสียลูกค้าไปในที่สุด คงจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนปัญหาระยะกลางที่จะเจอคือไม่มีคนซื้อบ้าน”
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/10/26/15170
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,099 วันที่ 25 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558