รังสิตป่วน! รถไฟฟ้าจ่อสร้างรั้วปิดทางเข้าออก บ้าน ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ศิลปินแห่งชาติโดนด้วย

Cr. มติชนออนไลน์ 7 กุมภาพันธ์ 2559

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านย่านรังสิตกว่า 200 ครัวเรือนเกิดความเดือดร้อนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำรั้วกั้นไม่ให้มีบุคคลเข้าไปในเส้นทางรถไฟฟ้า โดยออกแบบให้รั้วอยู่ชิดเขตรถไฟทั้งหมด ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวไม่มีทางเข้าออก รวม 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเดชาพัฒนา 87 ชุมชนสุขเกษม และชุมชนเคหะสินสมุทรใกล้หมู่บ้านเมืองเอก ทั้งนี้ บ้านของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 เป็นหนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อนด้วย

1

นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วิศวกรโครงการดังกล่าวจากบริษัทอิตาเลียน-ไทยได้ลงพื้นที่เพื่อแจ้งชาวบ้านว่าจะดำเนินการปิดทางเข้าออกเพื่อทำทางระบายน้ำ ดังนั้นผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวจะไม่สามารถเข้าออกได้อีกต่อไป และภายใน 3 เดือนนี้ทางโครงการจะเริ่มสร้างรั้วซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกตกใจเพราะเกรงว่าจะไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากบ้านได้ ตนจึงอยากตั้งคำถามว่าการสร้างรั้วกั้นเป็นแนวกำแพงชิดกับที่ดินของชาวบ้านในลักษณะนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากเป็นการปิดทางเข้าออกของชุมชน ทำให้เป็น “ที่ตาบอด” โดยอ้างว่ามีสิทธิทำได้ เพราะเป็นแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ นอกจากนี้ ยังไม่มีเอกสารแจ้งอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

“ชาวบ้านไม่ได้ขัดแย้งกับการรถไฟเรื่องการสร้างรั้วกั้น แต่ต้องการทราบความชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะสร้างรั้วแบบไหน ตรงไหน คือจะให้ชาวบ้านมีทางเข้าออกแบบไหน ที่เรียกว่า ถนนเลียบทางรถไฟ ทางฝั่งตะวันออกช่วงดอนเมือง-รังสิต จะมีเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรหรือไม่ ระบบระบายน้ำเป็นอย่างไร จะมีสะพานลอยเพื่อเชื่อมคนสองฝั่งทางรถไฟกี่แห่ง”

นายโมน สวัสดิ์ศรี บุตรชายนายสุชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านนับร้อยพันราย เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งความเดือดร้อนนี้ไม่ได้เกิดจากการเวนคืน แต่เกิดจากการออกแบบรั้วกั้นให้ชิดเขตรถไฟ จึงไม่มีเส้นทางเข้าออก และแม้โครงการดังกล่าวจะมีถนนเลียบทางรถไฟ ก็มีเฉพาะด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟเท่านั้น ในขณะที่ชุมชนของตนอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งบ้านของตนอยู่ในที่ดินมีโฉนดถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ นอกจากนี้ แม้จุดที่มีการกั้นรั้วจะเป็นที่ดินของการรถไฟ ฯ แต่ชุมชนก็มีสิทธิในการใช้พื้นที่ในการเข้าออก ไม่ใช่กั้นรั้วในลักษณะที่ไม่มีทางออกแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ไม่สามารถแม้แต่จะเดินไปขึ้นรถไฟฟ้า

“เคยมีกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินว่า หากชาวชุมชนตั้งอยู่บนหลักแหล่งแห่งที่มีโฉนดถูกต้อง หากจำเป็นต้องใช้ที่ดินของรัฐในการสัญจรและสัญจรมาเป็นเวลานานแล้ว รัฐไม่มีสิทธิปิดกั้นเส้นทางสัญจรดังกล่าวไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้น ชาวบ้านมีสิทธิใช้ที่ดินของการรถไฟฯ เป็นทางออกทุกประการ เพราะ 1.เป็นสิทธิของพลเมืองในการเข้าถึงหมู่บ้าน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างของตน 2.จำเป็นต้องมีทางสัญจรหากเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือมีผู้ป่วยในชุมชน 3. ชุมชนดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตสถานีหลักหก ไม่เกิน 500 เมตรจากตัวสถานี จำเป็นอย่างยิ่งที่การรถไฟฯ ต้องเอื้อเฟื้อแม้เพียงทางเท้าสำหรับให้ชาวชุมชนได้เดินไปขึ้นรถไฟฟ้า แต่นี่ไม่มีทางออกเลย แม้แต่แมวก็ออกไม่ได้” นายโมนกล่าวและว่า นอกจากอุปสรรคเรื่องทางเข้าออกแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องระบบการระบายน้ำ เนื่องจากการรถไฟฯ ใช้ระบบระบายน้ำแบบปิด จึงทำให้น้ำเสียจากชุมชนไม่สามารถระบายไปยังคูคลองต่างๆ ได้ หากมีฝนตกหนัก หรือน้ำท่วมเหมือนใน พ.ศ. 2554 ชุมชนแถบนี้ จะประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก

นายโมนยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดการรถไฟฯ จึงต้องกั้นรั้วกินพื้นที่กว้างขวาง ทั้งที่เส้นทางรถไฟสายสีแดงไม่ได้ใช้พื้นที่มาก แต่เป็นการเลาะไปตามแนวทางรถไฟเดิมนั้น ตนมองว่าเป็นการจับจองพื้นที่ไว้สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางจากจีนและรถไฟความเร็วสูงจากเชียงใหม่ ซึ่งหากพิจารณาเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ก็มีการเอื้อกับชุมชน เช่น สายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยในเบื้องต้น ตนได้แจ้งความเดือดร้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

“เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ก็เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งบนพื้นดินแบบนี้ แต่มีถนนเลียบทางรถไฟให้ชาวบ้านทั้งสองข้างทางรถไฟซึ่งเอื้อเฟื้อให้ชุมชนอย่างมาก แต่รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต กลับมีถนนเพียงด้านเดียว อีกด้านจับจองไว้สร้างรถไฟความเร็วสูง ผมไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย เทศบาลนครรังสิต ศูนย์ดำรงธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทุกหน่วยงานไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนให้แก่ชาวชุมชนเลย เหลือแต่ศาลปกครองซึ่งอาจเป็นคำตอบสุดท้าย” นายโมนกล่าว

2
3
4