Cr. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 29 ธันวาคม 2558
เอเซีย พลัส เปิดตัวเลขแบ็กล็อกไตรมาส 3/58 ของ 15 บริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบยอดรวม 2.27 แสนล้านบาท เผยอนันดานำโด่งแชมป์ 3.6 หมื่นล้าน ส่วนด้านยอดขายรวม 9 เดือนอยู่ที่ 1.81 แสนล้านบาท แนะจับตายอดขายปี 59 หลังหมดมาตรการกระตุ้น หวั่นเศรษฐกิจไม่เอื้อตลาดโต
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า 15 บริษัทมหาชน ได้แก่ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์), แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN, เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, มั่นคงเคหะการ,อนันดา ดีเวลลอปเมนท์, พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, ปริญสิริ, พฤกษา เรียลเอสเตท, ควอลิตี้เฮ้าส์, ไรมอนแลนด์, เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์, แสนสิริ และศุภาลัย มีการเปิดตัวโครงการใหม่ยังไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ เนื่องจากมีแบ็กล็อก(สินค้ารอรับรู้รายได้) ส่งมอบตามกำหนด แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 จะชะลอตัว เพราะเป็นช่วงรอยต่อของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของภาครัฐ แต่เชื่อว่าส่วนที่ชะลอนั้นจะไปโอนในไตรมาส 4/58 ส่งผลให้ผลประกอบการเป็นไปตามคาดการณ์ของแต่ละบริษัท โดยทั้ง 15 บริษัทมีแบ็กล็อกรวมกัน ณ สิ้นไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท โดยเมื่อต้นปีมีแบ็กล็อกอยู่ที่ 2.36 แสนล้านบาท เหตุที่แบ็กล็อกลดลงไม่มากเนื่องจากมียอดขายใหม่เข้ามาเติม
โดยบริษัทที่มียอดแบ็กล็อกสูงสุด 5 ลำดับแรกได้แก่ 1.บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำนวน 36,326 ล้านบาท 2.บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท จำนวน 35,468 ล้านบาท 3.บมจ.ศุภาลัย จำนวน 35,073 ล้านบาท 4.บมจ.แสนสิริ จำนวน 25,275 ล้านบาท และ 5.บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำนวน 21,053 ล้านบาททั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับแบ็กล็อก ณ สิ้นไตรมาส 1/58 มียอดรวมกันอยู่ที่ 2.45 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีสัดส่วนแบ็กล็อกสูงสุดคือ พฤกษาฯ 16% รองลงมาคือ ศุภาลัย 15% อนันดาฯและแสนสิริ เท่ากันคือ 14% LPN กับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ที่รายละ 8% เอพี (ไทยแลนด์) 5% ควอลิตี้เฮ้าส์ 4% ที่เหลือ 9 รายรวมกัน16%
ขณะที่ยอดขายใหม่รวมช่วง 9 เดือนปี 58 อยู่ที่ประมาณ 1.81 แสนล้านบาท เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.65 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 9.57% การเติบโตของยอดขายในปี 2558 มาจากฐานที่ต่ำในปี 2557 เนื่องมีเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังถือว่าตลาดทรงตัว
สำหรับสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2559 นั้น ในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
“สิ่งที่ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดก็คือ ตลาดช่วงครึ่งหลังปี 2559 หลังจากหมดมาตรการกระตุ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังอาจต้องลุ้นยอดขายว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,115 วันที่ 27 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558