ผุด 4 หมื่นยูนิตรับเขตเศรษฐกิจ กคช.ลุยแฟลตเช่ารับแรงงาน/เอกชนลุ้นโครงสร้างพื้นฐาน

Cr. ฐานเศรษฐกิจ 2 มีนาคม 2559

3

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด ร้อนฉ่า! ที่อยู่อาศัยแนวราบ-แนวสูงรับแรงงานเฮละโล กคช.ชูแผนสร้างอาคารพักอาศัยเช่าถูก 4 หมื่นหน่วย ภายในปี 2560-2561 จับเข่าคุยกรมธนารักษ์-กนอ. หาที่ดินรัศมีใกล้นิคมอุตสาหกรรม-การคมนาคมสะดวก ด้านนายกฯจัดสรร ชี้เอกชนตั้งท่ารอโครงสร้างพื้นฐานพร้อม คาดอีก 3 ปีข้างหน้าเดินหน้าลุย

หลังรัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เร่งรัดขับเคลื่อนให้เอกชนเข้าพื้นที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ10 จังหวัด ได้แก่ ระยะแรกจังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา และหนองคาย ระยะที่ 2 จังหวัดเชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมเข้าพื้นที่เสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อเรื่องนี้ นายนภดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและการเกิดนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัด 12 พื้นที่ ขณะเดียวกันเรื่องที่อยู่อาศัยก็มีความจำเป็นต่อการรองรับแรงงานที่เกิดขึ้นในอนาคต ล่าสุดกคช.ได้จัดทำแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย สำหรับเช่ารองรับกลุ่มแรงงานที่จะเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ดังกล่าวทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวจำนวน 4 หมื่นหน่วย หรือเป็นอาคารประเภทแฟลตให้เช่าขนาดพื้นที่ 28-32 ตารางเมตร สูง 3-5 ชั้น อาคารละ 45 หน่วย แต่ละจังหวัดมีจำนวน 2 พัน-4 พันหน่วย โดยกำหนดค่าเช่าไว้เบื้องต้นที่ 1.5-2 พันบาทต่อเดือนและปรับขึ้น 3% ทุก 5ปี

ทั้งนี้ตามแผนเดิมจะพัฒนาตั้งแต่ปี 2559-2561 แต่เนื่องจากมองว่าภายในปีนี้ไม่น่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันเพราะยอมรับว่า ยังไม่มีที่ดินในมือใกล้นิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม้แต่แปลงเดียว ดังนั้นจึงต้องเจรจากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และกรมธนารักษ์เพื่อจัดหาที่ราชพัสดุที่เหมาะสมให้หรือแบ่งพื้นที่ที่กนอ.ได้รับจัดสรรให้กับกคช. เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับในนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานดังกล่าว เนื้อที่รวมประมาณกว่า 1 พันไร่ หรือพื้นที่ละ 80-100 ไร่

สำหรับแผนก่อสร้างจะใช้เวลา 1.5 ปี-2 ปี หากที่ดินพร้อม อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่มีที่ดินในมือ ในทางกลับกันกคช. จะทำงานเชิงคู่ขนานเพื่อไม่ให้เสียเวลา คือ ขณะที่จัดหาที่ดินก็จะเสนอแผนโครงการเพื่อขออนุมัติไปตามขั้นตอน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ เป็นต้น หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกคช. (บอร์ดกคช.)ไปแล้ว และการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอที่จะใช้เวลานานถึง 8 เดือน-1 ปี

รองผู้ว่ากล่าวต่อว่า สำหรับทางออกที่จะให้โครงการเดินหน้าโดยเร็ว คือ ต้องใช้มาตรา 44 ตามร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ลดระยะเวลาพิจารณาขั้นตอนอีไอเอให้เหลือเพียง 1-6 เดือน จะช่วยให้งานสามารถเดินต่อได้และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่วางไว้ สำหรับต้นทุนก่อสร้างตกตารางเมตรละ 8-9 หมื่นบาท ไม่รวมต้นทุนที่ดินและค่าสาธารณูปโภค

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่าขณะนี้กคช.ยังไม่ได้เข้ามาหารือเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ซึ่งในทางปฏิบัติ กคช.สามารถใช้ที่ดินที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ได้ ซึ่งมองว่ารัศมีใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัด น่าจะมีอยู่จำนวนมากโดยกรมจะให้กคช.ไปเลือกแปลงที่ดินที่เหมาะสมเองและหากที่ดินแปลงนั้นยังมีหน่วยงานราชการใช้อยู่ แต่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ก็จะเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนและให้กคช.เช่าต่อไป เพราะปัจจุบันกรมได้เรียกคืนแปลงที่ดินจากหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ซึ่งแปลงที่ดินที่เหมาะสมมองว่าจะต้องจูงใจผู้เช่า ใกล้แหล่งงาน คมนาคมสะดวกแต่จะไม่ให้กคช.เข้าไปพัฒนาที่อยู่อาศัยภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่จัดไว้สำหรับกนอ. หรือเอกชนเช่าพื้นที่ เพราะมองว่าไม่เหมาะสมที่จะมีที่อยู่อาศัยแทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงงาน

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมได้กำหนดโซนที่อยู่อาศัยไว้แล้ว ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมและผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทั้ง 10จังหวัด 12 พื้นที่ โดยเฉพาะที่ดินของกคช.ที่มีอยู่ อาทิ หนองคาย ทางกรมได้กำหนดพื้นที่สีเหลืองหรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยเอาไว้ เป็นต้น แต่มุมกลับมองว่าภายในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐ พื้นที่ค่อนข้างกว้างสามารถแบ่งโซนที่อยู่อาศัย ภายในนั้นก็สามารถทำได้ เพื่อให้กลุ่มแรงงานสะดวกมากขึ้นไม่ต้องเดินทางไปกลับไกลจากแหล่งงาน

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรกล่าวว่า ภาคเอกชนสนใจต่อการเปิดทำเลใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับแรงงานทั้งระดับผู้บริหาร หัวหน้าและแรงงานระดับล่าง แต่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนโดยเฉพาะการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานตามที่วางแผนไว้ และหากเอกชนจะไปก็จะต้องรอให้โครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟทางคู่ ฯลฯ ที่สำคัญกิจกรรมภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเกิดขึ้นจริง มีแรงงานอยู่จริง และมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มระดับหัวหน้า หรือผู้บริหารที่ประจำพื้นที่ อาจจะต้องการมีบ้านแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับเขตนิคมฯ แต่อาจขยับออกมาในเมือง

ซึ่งจะต่างกับแรงงานที่ต้องการมองหาที่พักติดกับนิคมฯ ประเมินว่า อีก 2-3ปี สำหรับเอกชนที่จะตัดสินใจไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2559