Cr. ฐานเศรษฐกิจ 18 มีนาคม 2559
บ้านประชารัฐยังไม่ตกผลึก รอแบงก์กรุงไทยลีดปล่อยกู้เซตเงื่อนไข คิดซินดิเคตโลนในอัตราดอกเบี้ย 4% “อภิศักดิ์” ยันชงครม.สัปดาห์หน้า ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ หนุนรัฐสุดตัวยอมแบกรับภาระเพิ่ม 5% แลกกับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ “พฤกษา” เผยสต๊อกสินค้าเข้าเกณฑ์มีไม่มาก ค่ายเสนาหวั่นโครงการสร้างไม่ทันความต้องการผู้บริโภคที่แห่กู้ นายกสมาคมอาคารชุดฯมองเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก-ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่แบงก์รัฐเล็งขน NPAเป็นทางเลือกให้ลูกค้า
ความคืบหน้า “บ้านประชารัฐ” โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจและผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รับโจทย์ไปดำเนินการโดยมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)เป็นแหล่งเงินในวงเงินสินเชื่อรวม 7 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ 3 หมื่นล้านบาทหรือ Pre Finance ( มี 3 สถาบันการเงินร่วมปล่อยกู้แห่งละ 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (KTB) เป็นแกนนำ ,ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ) และสินเชื่อเพื่อผู้กู้รายย่อย ( Post Finance )วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท (ผ่านธอส.และออมสิน แห่งละ 2 หมื่นล้านบาท ) เพื่อสนับสนุนให้มีบ้านที่อยู่อาศัยในยูนิตตั้งแต่ 7 แสนบาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
ต่อเรื่องนี้นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 2 สายงานธุรกิจขนาดใหญ่1 ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ( 22 มี.ค. 59 ) น่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ได้ เนื่องจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นลีดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการร่วมกับธอส.และออมสิน ยังอยู่ในขั้นเตรียมงานด้านเอกสาร
สำหรับหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อในโครงการบ้านประชารัฐ จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการครอบคลุมทุกกลุ่มรายเล็ก-รายใหญ่ โดยในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็ก เพียงให้มีศักยภาพในการจัดหาทำเลซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะต้องเน้นการบริหารต้นทุนควบคู่ด้วย เพราะโครงการนี้เป็นการเปิดทั่วไปครอบคลุมทั้งโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วและโครงการที่จะก่อสร้างใหม่ โดยที่เกณฑ์พิจารณาปล่อยกู้ก็จะเหมือนกับสินเชื่อโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ทั่วไป ซึ่งต้องดูศักยภาพของผู้กู้และโอกาสในการหาลูกค้า
อย่างไรก็ดีเนื่องจากโครงการนี้รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นเร็ว ดังนั้นธนาคารจึงกำหนดเกณฑ์ว่าผู้ประกอบการต้องกู้และชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 2ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 4% ต่อปี ( หากไม่อยู่ในเงื่อนไข 2 ปี จะไม่ได้รับข้อเสนอที่ดอกเบี้ย 4%)
KTB ลีดนำโวมีผู้สนใจแล้ว 6 ราย
” แบงก์กรุงไทยมีส่วนแบ่งสินเชื่อพรีไฟแนนซ์เป็นท็อป 3 ของระบบ จึงได้รับเลือกให้เป็นลีดในการปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐร่วมกับอีก 2 แบงก์รัฐ ซึ่งโครงการนี้ต้องขอบคุณผู้ประกอบการอสังหาฯที่เข้ามารับภาระในส่วนของค่าธรรมเนียม จดจำนองหรือค่าใช้จ่ายส่วนกลางปีแรกทำให้ผู้ซื้อรายย่อยเบาตัว และในเบื้องต้นส่วนของธนาคารกรุงไทย ขณะนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 6ราย ให้ความสนใจเข้ามาแล้ว โดยมีความหลากหลายทั้งโครงการแนวราบและแนวสูงทั้งทำเลในกรุงเทพ ฯและต่างจังหวัด ”
อภิศักดิ์ ยันชง ครม.สัปดาห์หน้า
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สัปดาห์นี้มาตรการบ้านประชารัฐ ที่จะเข้าช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้นั้นยังไม่สามารถที่จะเสนอหรือบรรจุวาระเข้าพิจารณาได้ทัน เนื่องจากยังต้องมีการสอบถามความคิดเห็นในส่วนของโครงการจากบางหน่วยงานดังนั้นคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการบรรจุวาระเพื่อให้ ครม.พิจารณาได้อีกครั้ง
ขนสต๊อกNPAปล่อยขาย
นายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนั้น ขณะนี้ธอส.รอหลักเกณฑ์ซึ่งธนาคารกรุงไทย ในฐานะแกนนำจะเป็นผู้กำหนด ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับทางออมสิน จากนั้นจึงจะนำเสนอครม. ส่วนวงเงินกู้ที่ปล่อยให้กับลูกค้ารายย่อย 4 หมื่นล้านบาท ในส่วนของธอส.ก็ยังจะมีสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)เสนอเป็นทางเลือกให้ลูกค้าอีกด้วย 2.5 พันยูนิต
สอดคล้องกับนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ออมสินมีเอ็นพีเอประมาณ 2พันยูนิต ซึ่งจะคัดเฉพาะราคา ( 7 แสนบาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ) ที่สอดคล้องโครงการบ้านประชารัฐเพื่อเป็นทางเลือกลูกค้า รวมถึงทรัพย์ที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ส่วนการปล่อยสินเชื่อโครงการนั้นไม่ได้กำหนดวงเงินต่อราย แต่เฉลี่ยต่อราย ( Pre Finance ) น่าจะอยู่ที่ 300-500 ล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า การปล่อยสินเชื่อโครงการนั้น เป็นการปล่อยซินดิเคตโลน (โครงการร่วมปล่อยกู้ ) โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นลีด ยกตัวอย่าง สินเชื่อโครงการ 3 พันล้านบาทจะเป็นการซินดิเคตร่วมกันระหว่าง 3 แบงก์รัฐโดยคิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษที่ 4% ต่อปี
กระตุ้นอสังหาฯภาคต่อ
ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหา ฯ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ( 14 มี.ค.59 ) ทางผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อรับทราบหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งเห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก และผู้มีรายได้น้อย ให้เข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด หลังมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เมษายน 2559
เปิดกว้างซื้อบ้าน-ซ่อมบ้านก็ได้
โดยโครงการดังกล่าวจะปล่อยกู้ให้ผู้ซื้อ ( Post Finance ) วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เงินกู้ซื้อบ้านต่อยูนิตที่มีราคาต่ำกว่า 7 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกที่ 0% ,ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 2% ,ปีที่ 4-6 คงที่ที่ 5% หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -0.75% ,ส่วนบ้านที่ราคาสูงกว่า 7 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อยูนิต จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% นาน 1-3 ปี และปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -0.75% นอกจากนี้วงเงินดังกล่าวยังรวมถึงการซ่อมแซมบ้านและการก่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
ดีเวลอปเปอร์แบกรับภาระเพิ่ม5%
“เบื้องต้นประเมินว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเพิ่ม 5% ซึ่งมาจากข้อกำหนดที่ว่าต้องฟรีค่าใช้จ่ายส่วนกลางนาน 1 ปี , ส่วนลดพิเศษอีก 1-2% , ฟรีค่าลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ฯลฯ เพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการและลูกค้าที่สนใจโครงการ ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ในเรื่องการได้แหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่มีแหล่งเงินที่ได้อัตราดอกเบี้ยดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้รับอานิสงส์จากส่วนนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อและมีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น”นายประเสริฐ กล่าว
เข้าเกณฑ์ทั้งระบบมี 6หมื่นหน่วย
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีประมาณ 6 หมื่นยูนิต แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ 3 หมื่นยูนิต และที่อยู่อาศัยมือ 2 จำนวน 3 หมื่นยูนิต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าตลาดที่ 15% ของมูลค่าตลาดรวมปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี
“พฤกษา”ส่งพลัม คอนโด/บ้าน
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท หรือ PS กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมีสต๊อกสินค้าที่เข้าเกณฑ์โครงการบ้านประชารัฐไม่มากนักจะมีเพียงคอนโดมิเนียมแบรนด์ พลัม กับ ทาวน์เฮาส์ แบรนด์ พฤกษา เท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากปัจจุบันระดับราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยที่บริษัทพัฒนาอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านบาท
หวั่นวงเงินกู้ซื้อบ้านไม่พอ
ด้าน ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ก็ยังมีความกังวลว่าวงเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคในครั้งนี้ทั้งระบบมีเพียง 4 หมื่นล้านบาทจะไม่เพียงพอ เนื่องจากโครงการดังกล่าวถือว่ามีข้อกำหนดและรายละเอียดที่กว้างกว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เพราะไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบ้านใหม่เท่านั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้สนใจเข้ามายื่นขอสินเชื่อจำนวนมาก จนวงเงินหมดภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน
ระยะเวลาก่อสร้าง-ยื่นขอกู้ไม่สอดคล้อง
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการเองจะได้รับสินเชื่อผู้ประกอบการ (Pre Finance) ผ่านธนาคารกรุงไทย ที่จะปล่อยกู้ในโครงการนี้ 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ประมาณ 4-5% ต่อปี โดยใช้ระยะเวลาในการยื่นขออนุมัติสินเชื่อประมาณ 1 เดือน เพื่อนำไปก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งหากเป็นคอนโดมิเนียมก็จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1-2 ปี ถ้าเป็นโครงการแนวราบจะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน1 ปี
“หากวงเงินในส่วนของสินเชื่อรายย่อยหมดก่อน อาจทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างกับระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อรายย่อยไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้โครงการที่พัฒนาใหม่อาจเกิดความล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของผู้ขอยื่นสินเชื่อ เนื่องจากเงื่อนไขข้อหนึ่งคือจะต้องจดจำนองภายใน 90 วัน เพื่อให้วงเงินถูกใส่ในระบบอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ บริษัทมีสต๊อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ประเภทคอนโดมิเนียมที่เข้าเกณฑ์โครงการบ้านประชารัฐในระดับราคา 7 แสน-1.5 ล้านบาท จำนวน 1 พันหน่วย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท”ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ไม่ใช่ทุกรายจะทำได้
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า โครงการบ้านประชารัฐเป็นโครงการที่ดีและก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ ซึ่งบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในเกณฑ์ตรงกับโครงการประชารัฐคือ ราคาขายระหว่าง 7 แสน-1.5 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 1 พันล้านบาท ประกอบด้วยโครงการ บีลอฟท์ สุขุมวิท 115 , ทรอปิคาน่า บีทีเอส เอราวัณ , เดอะ คาบาน่า และพอส สุขุมวิท 107
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่พร้อมพัฒนาต่อเนื่องอีก 1 โครงการคือ โครงการน็อตติ้งฮิลล์ แพรกษา มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท จำนวน 980 หน่วย ระดับราคาขาย 1.2-1.5 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดขายพรีเซลในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนภายในปี 2561
“โครงการบ้านประชารัฐเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนทั้งในเรื่องของสินเชื่อรายย่อยและผู้ประกอบการ ภาครัฐก็ไม่ต้องลงทุนพัฒนาเอง ถือว่าการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการค่ายไหนจะทำได้ เพราะการพัฒนาโครงการในลักษณะนี้ต้องมีการจัดการเรื่องของต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ จึงจะควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้ถูกจำกัดแค่บางผู้ประกอบการเท่านั้น”นายพีระพงศ์ กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2559