แผนสร้างที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 2.7 ล้านยูนิต 6.8 แสนล้านเค้กก้อนใหม่ รัฐดันเต็มที่จัดแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ "การเงิน-BOI-กฎหมาย" ล่อใจ เก็บภาษีบาป-ภาษีที่ดินหนุนลงทุน กางที่ราชพัสดุ เขต ศก.พิเศษ แนวรถไฟฟ้า ทางคู่ รับพัฒนาโครงการ บูม "บางปะอิน-เชียงราก-เชียงใหม่-หาดใหญ่-แม่สอด-สระแก้ว" ปีཷ ให้การเคหะฯดึงอสังหาฯแจม
แหล่งข่าวจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เรียกผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 3 สมาคม เข้าหารือปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมยื่นข้อเสนอให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งภาคเอกชนรับข้อเสนอไปพิจารณาและจะให้คำตอบภายใน 1 เดือน ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ทั้งด้านการเงิน ที่ดิน และกฎหมาย บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัย ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเป็นประธาน ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิจารณา
หากได้รับความเห็นชอบจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเสนอตัวร่วมลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยเฟสแรกในปี 2559 ได้ทันที โดยจะดำเนินการต่อเนื่อง10 ปี ถึงปี 2568 ทั้งหมด 2.7 ล้านยูนิต รองรับผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง 2.7 ล้านครัวเรือน วงเงินลงทุนรวม 6.8 แสนล้านบาท
แนวทางดำเนินการ 1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วไปกว่า 2 ล้านครัวเรือน มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) พัฒนาโครงการทั้งแนวราบ แนวสูง รองรับตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ จะดำเนินการบนที่ดินที่ กคช.มีอยู่แล้ว หรือจัดหาที่ดินใหม่เพิ่มเติม อีกส่วนหนึ่งสนับสนุนให้บริษัทอสังหาฯเข้าร่วมพัฒนาในรูปภาคี เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบแทนสังคม 2.กลุ่มที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก คนไร้บ้าน 6.9 แสนครัวเรือน ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับ
โดยรัฐจะสนับสนุนดังนี้ 1) มาตรการด้านการเงิน 1.รัฐอุดหนุนส่วนต่างราคาที่ผู้มีรายได้น้อยรับภาระไม่ไหว 2.อุดหนุนดอกเบี้ยผ่านสถาบันการเงิน 3.อุดหนุนผ่านกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้านได้ 4.ให้สิทธิประโยชน์ภาษี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 5.ตั้งกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งชาติ โดยหักภาษีที่ดินและ
สิ่งปลูกสร้าง ภาษีบาป สนับสนุนการลงทุนของ กคช., พอช. 6.ตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้สินเชื่อพัฒนาโครงการดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชน และให้สินเชื่อซื้อบ้านดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้มีรายได้น้อย
2) มาตรการด้านที่ดิน จัดหาที่ดินรัฐรองรับการพัฒนา อาทิ ที่ราชพัสดุในเขตเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดินแนวเส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า ที่ดินชลประทาน เป็นต้น 3) มาตรการด้านกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายผังเมืองให้เอื้อต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ออกกฎหมายให้เอกชนจัดให้มีที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยโดยให้สิทธิก่อสร้างได้เพิ่ม หรือจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ออกกฎหมายด้านการเงิน ภาษี ดึงดูดใจเอกชน ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1445501341
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 ตุลาคม 2558