"นครรังสิต" คึกรับรถไฟสายสีแดง ปลุกธุรกิจฟื้น-จัดสรรพรึ่บ-จี้แก้ผังเมืองเอื้อลงทุน

rangsit

นับตั้งแต่ไทยเริ่มพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ในปี 2500 พื้นที่ "ทุ่งรังสิต" ก็ค่อย ๆ เติบโตทั้งจำนวนประชากร อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมทั้งพื้นที่ทศบาลตำบลประชาธิปัตย์ ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลเมือง และเปลี่ยนชื่อเป็น "รังสิต" ในปี 2546 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครรังสิต ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบันเทศบาลนครรังสิต มีประชากรทั้งหมด 79,396 คน 36,465 ครัวเรือน และมีโรงงานอุตสาหกรรม 131 แห่ง แม้ในเชิงอุตสาหกรรมจะมีไม่มากนัก แต่ก็รายล้อมด้วยห้างสรรพสินค้า และตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่ซัพพอร์ตความต้องการได้ทั้งระดับชุมชนและระดับภูมิภาค ทำให้เทศบาลนครรังสิตเต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

ด้วยทำเลที่ตั้งเป็น "เมืองหน้าด่าน" ก่อนเข้าสู่เมืองหลวง จึงเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และล่าสุดนี้ยังเป็นหมุดหมายการลงทุนของเมกะโปรเจ็กต์ด้านการคมนาคมจากภาครัฐ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีขนส่งแห่งใหม่ (หมอชิต 2)

"ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม" นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันเทศบาลนครรังสิตมีความเป็นเมืองในทุกพื้นที่ โดยที่นาแปลงสุดท้ายของรังสิตได้ถูกขายให้กับหมู่บ้านจัดสรรนำไปพัฒนาพื้นที่ต่อเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยถือเป็นการลงทุนส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนครรังสิต

อย่างไรก็ตามช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต้องชะลอไป เพราะได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ด้วยอานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ทำให้นักลงทุนกลับมาฟื้นตลาดอีกครั้ง โดยมีทั้งการรีโนเวตตึกเก่าที่เคยล้มหายตายจากไป และลงทุนใหม่ โดยเฉพาะแนวสูง เพราะปัจจุบันราคาที่ดินขยับขึ้นไปสูงมาก จนพัฒนาแนวราบได้ยาก อาทิ พลัมคอนโด ของกลุ่มพฤกษา เรียลเอสเตท (จำนวน 948 ยูนิต) ลุมพินีทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 (จำนวน 10,074 ยูนิต) คอนโดมิเนียมของกลุ่มอาคารโรซ่า และการลงทุนโรงแรม และห้องชุดให้เช่าของตระกูลหวั่งหลี ที่กำลังก่อสร้างแท่งที่ 3

แม้การลงทุนเหล่านี้จะดูน่าตื่นตาตื่นใจทว่าขณะนี้"ผังเมือง"ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทำให้โครงการต่างๆ ยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะการกำหนดให้พื้นที่ด้านข้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ประมาณ 700-800 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียว ส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงราว 2-3 ไร่ ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงได้ ซึ่งตามธรรมชาติของแนวรถไฟฟ้ามักมีการลงทุนที่พักแนวสูงขึ้น หรือที่ดินบริเวณไทยแมล่อน (อ.คลองหลวง) ที่กลุ่มเซ็นทรัลซื้อไว้ 3 แปลง ก็ยังเป็นสีม่วงสำหรับอุตสาหกรรมอยู่ ไม่สามารถดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาย่อมมาพร้อมกับปัญหา โดยเฉพาะความแออัดของเมือง ทั้งจากจำนวนประชากรและสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยปัจจุบันเทศบาลนครรังสิตมีประชากรตามทะเบียนบ้านราว 8 หมื่นคน ขณะที่ประชากรแฝงมีมากถึง 2 แสนคน แต่หากเข้าสู่ช่วงต้นปี 2559 ประชากรในเขตเทศบาลนครรังสิตจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนคน และประชากรแฝง 2.5 แสนคน จากการย้ายถิ่นและธุรกิจที่เข้ามาลงทุน อาจทำให้สาธารณูปโภคสร้างไม่ทัน

การพัฒนาอย่างรวดเร็วให้ทั้งอานิสงส์มหาศาล แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่เมืองต้องเตรียมรับมือ เพื่อให้เทศบาลนครรังสิตเติบโตเป็นเมืองหน้าด่านที่เปี่ยมศักยภาพ ทั้งน่าอยู่และน่าลงทุนต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1445423727
ประชาชาติธุรกิจ 23 ตุลาคม 2558