เบื้องลึก "กทม.-บีทีเอส" ฮุบรถไฟฟ้าสายสีเขียว "ปากน้ำ-ปทุม"

Cr.ประชาชาติธุรกิจ 1 กรกฎาคม 2559

เป็นที่ทราบกันดีว่า "บีทีเอส" รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย มี "คีรี กาญจนพาสน์" เป็นผู้บุกเบิก ด้วยเงินทุนตัวเองทั้งก่อสร้างและจัดหาระบบ โดยรับสัมปทานเดินรถจาก "กทม.-กรุงเทพมหานคร" 30 ปี ตั้งแต่ 2542-2572

ขณะที่ส่วนต่อขยาย "อ่อนนุช-แบริ่ง" 5.25 กม.และ "ตากสิน-บางหว้า" 7.5 กม. ที่เพิ่มเติมเข้ามา "กทม." เป็นผู้ควักเงินค่าก่อสร้าง จ้างบีทีเอสเดินรถ 30 ปี ตั้งแต่ 2555-2585

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายลงทุนขยายเส้นทางสายสีเขียวออกไปอีก ด้านใต้ลากจาก "แบริ่ง-สมุทรปราการ" 13 กม. และด้านเหนือจาก "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" 18.7 กม. มี "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

ก่อนที่ "รัฐบาลทหาร" จะเข้ามา ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้ง "กทม.-รฟม." เปิดศึกแย่งชิงความเป็นเจ้าของโครงการอย่างหนักหน่วง ถึงขั้นที่ "กทม." จะไม่ให้การเดินรถต่อเชื่อมกันทั้งด้านกายภาพและระบบ

สายสีเขียว "หมอชิต-คูคต" ผู้โดยสารต้องลงป้ายสุดท้ายที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีพหลโยธินเข้าเมือง เช่นเดียวกับ "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ผู้ใช้บริการต้องลงจากรถที่ "สถานีสำรอง" ที่ รฟม.สร้างไว้บนถนนสุขุมวิท ห่างจากแบริ่ง 500 เมตร เพื่อขนถ่ายผู้โดยสารจากระบบบีทีเอสปัจจุบันเข้าสู่ระบบส่วนต่อขยายที่จะไปสมุทรปราการและเข้าเมือง

จากข้อจำกัดตรงนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่"รัฐบาลคสช." จะทุบโต๊ะยกรถไฟฟ้าสายนี้ให้ กทม.ดูแล เพราะหากวันนี้ไม่มีข้อยุติ จะกลายเป็น "รถไฟฟ้าฟันหลอ" เหมือนสายสีม่วง-น้ำเงินที่ขาดช่วง 1 สถานี

ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจ กทม. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) วันที่ 15 มี.ค. 2559 มอบหมายให้สายสีเขียวต่อขยาย 2 เส้นทางให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนนั่งรถไฟฟ้าแบบต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคม รฟม. และ กทม.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์โครงการให้ กทม.เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

กทม.จะชำระค่าก่อสร้างกว่า 6 หมื่นล้านบาทคืนให้ รฟม. ซึ่ง กทม.จะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป เช่น จ่ายคืนหลังปี 2572 เพราะสัมปทานสายสีเขียวที่บีทีเอสลงทุนให้จะตกเป็นทรัพย์สินของ กทม.หลังสิ้นสุดสัมปทาน จะสามารถนำไประดมทุนผ่านกองทุนอินฟราฯฟันด์ได้

"คจร.มีมติโอนให้ กทม. กลัวว่าจะทำให้เดินรถขาดช่วงเหมือนสีม่วงมี 1 สถานีไม่ต่อเชื่อมกัน หาก รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ สายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการผู้โดยสารต้องเดิน 800-900 เมตร สีเขียวหมอชิต-คูคต ต้องลงต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่พหลโยธิน"

ขณะที่การเดินรถ "ประธานบอร์ด KT" กล่าวว่า กทม. มอบ KT เป็นผู้บริหารจัดการทั้ง 2 เส้นทาง ในการวางระบบการบริหารจัดการและระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่ง KT จะจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เป็นผู้ดำเนินการในรูปแบบการบริหารจัดการเจ้าหนี้การค้าระยะสั้นหรือ Supplier Credit โดยบีทีเอสซี หาเงินลงทุนติดตั้งระบบให้ 20,936 ล้านบาทและรับจ้างเดินรถเป็นเวลา 26 ปี จนถึงปี 2585

โดย KT มี 3 แนวทางชำระเงินคืนให้ คือ 1.ชำระคราวเดียวเมื่อเปิดบริการในปี 2563 2.นำรายได้จากค่าโดยสารหักค่าใช้จ่ายเดินรถชำระปีละ 1,000 ล้านบาทถึงปี 2572 จากนั้นอีก 3 ปีชำระปีละ 4,000 ล้านบาท และ 3.แนวทางอื่นตามความเหมาะสม

"งานโยธาใกล้แล้วเสร็จ คืบหน้าแล้วกว่า 80% เพื่อให้เดินรถอย่างรวดเร็ว ต้องรีบจ้างบีทีเอส ซึ่งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้ยื่นข้อเสนอให้บีทีเอสคิดต้นทุนค่าจ้างแล้ว" ดร.สุรพลกล่าวและว่า

ตั้งเป้าวันที่ 5 ธ.ค.นี้ จะเปิดทดลองเดินรถ 1 สถานีจากแบริ่ง-สำโรง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการ จากนั้นจะเปิดบริการตลอดทั้ง 9 สถานีอย่างเป็นทางการเดือน ธ.ค. 2561 ส่วนหมอชิต-คูคตจะเปิดบริการ 2563