Cr. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 6 ธันวาคม 2558
“วิชาญ” ท้วงครม.รีบเร่งไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อนเสนอสคร. และคณะกรรมการพีพีพี. พิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสม ทั้งที่มีคนร้องเรียนเกรงจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและแนวเส้นทางยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาในอนาคต หลังรฟม.ทำหนังสือชี้แจงถึงแนวเส้นทางช่วงผ่านสถานีตลาดมีนบุรี
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีหนังสือชี้แจงเรื่องแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีที่ 29 (สถานีตลาดมีนบุรี) ซึ่งทางมูลนิธิคนรักเมืองมีนได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการรฟม. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ช่วงจากถนนสีหบุรานุกิจไปยังถนนสุวินทวงศ์นั้น โดยทางรฟม.ยืนยันว่าแนวถนนสีหบุรานุกิจซึ่งเป็นแนวเส้นทางตามแผนแม่บทมีความเหมาะสมทั้งเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เห็นชอบก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการร่วมลงทุน(พีพีพี)ระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมต่อไปนั้น
“การท้วงติงผ่านสื่อมวลชนครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นว่าก่อนที่ครม. จะพิจารณาเป็นประการใดนั้นอยากให้พิจารณาในกรณีว่ารถไฟฟ้าโครงการดังกล่าวนี้ ยังมีการเคลียร์ปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ หมดไปแล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเมื่อมีการก่อสร้างโครงการ ทำให้เกิดความล่าช้าตามมาดังที่เกิดปัญหากับหลายเส้นทางมาแล้วที่พบว่ามีการร้องเรียนผ่านกระบวนการทางศาล หากสามารถแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆได้ครบหมดแล้ว จึงน่าจะอนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไปได้มากกว่าจะดันทุรังนำเสนอพิจารณา”
นายวิชาญกล่าวอีกว่ากรณีดังกล่าวนี้ยังเห็นว่าประเด็นที่รฟม. ตอบกลับข้อชี้แจงดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ทั้งๆที่ผลกระทบเมื่อมีการก่อสร้างโครงการจะส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่ของตลาดช่วงมีการก่อสร้างเพราะยังเห็นว่าพื้นที่ถนนสีหบุรานุกิจเป็นพื้นที่แออัด เป็นศูนย์รวมและการผ่านเข้า-ออกขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรถตู้สาธารณะ มีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ตลาดเพียง 1.5 หมื่นคน ประการสำคัญแนวรถไฟฟ้าผ่านเข้าไปยังพื้นที่ตลาดจะต้องเลี้ยวออกโดยข้ามไปยังคลองสามวา คลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหงไปยังสถานีซ่อมบำรุงนั้นเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม
ทั้งนี้เห็นว่าจะเกิดผลกระทบช่วงการก่อสร้างอย่างมากโดยเฉพาะการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ทั้งแนวท่อประปา โทรศัพท์ และเสาไฟฟ้า แต่หากเลี้ยวไปตามถนนสุวินทวงศ์จะเกิดผลกระทบน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถสร้างการเชื่อมโยงพื้นที่ได้หลายรูปแบบ ทั้งสกายวอล์กหรือรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อเลี่ยงความหนาแน่นจากการใช้พื้นที่แทนการนำแนวรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่ ซึ่งน่าจะเกิดผลกระทบมากกว่าโดยเฉพาะจุดก่อสร้างสถานีในย่านชุมชน ทั้งหากมีการขยายแนวเส้นทางในอนาคตไปยังพื้นที่หนองจอกหรือฉะเชิงเทราก็สามารถดำเนินการได้สะดวกกว่า
“ส่วนเรื่องพีพีพีจะพิจารณาเรื่องรูปแบบการลงทุน แต่ในเมื่อสถานีอยู่ด้านนอกพื้นที่มากกว่าจะเข้าไปในชุมชนอย่างไหนจะลดต้นทุนได้มากกว่า อีกทั้งกรณีเดิมรฟม. จะใช้พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ดำเนินการ ล่าสุดเพิ่มเป็นกว่า 200 ไร่ โดยอ้างเหตุว่าจะเป็นอาคารจอดรถ แต่ไม่คิดว่าเมื่อรถจำนวนมากทะลักเข้าไปใช้บริการจะเกิดปัญหาอะไรตามมาเพราะถนนโดยรอบปัจจุบันสภาพการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อมีสถานีอยู่ในตลาด รถจากหลายทิศทางทะลักเข้าไปใช้บริการที่สถานี 29 คิดง่ายๆ ว่าจะเกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรถนนโดยรอบอย่างไร รัฐบาลควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนที่จะทิ้งภาระหรือปัญหาให้คนมีนบุรีในอนาคตจากกรณีหมกเม็ดโครงการนำเสนอให้ครม.อนุมัติ”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,111 วันที่ 6 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558