อสังหาปรับกลยุทธ์เร่งสปีดก่อสร้าง ปิดการขายใน6เดือนรับแคมเปญรัฐ

develope

ผู้ประกอบการขานรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ "โกลเด้นแลนด์-เอพี-แอล.พี.เอ็น.-เสนาฯ-กานดา" เร่งสปีดก่อสร้าง-ขายภายใน 6 เดือน ร่นเวลาส่งมอบไตรมาสแรก ปี 2559 รัฐบาลดึง 17 ดีเวลอปเปอร์ร่วมพัฒนาที่ดินราชพัสดุ ธนารักษ์ ทำโปรเจ็กต์บ้านคนจน "กสิกรฯ-กรุงไทย"เมินแข่ง ธอส.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่าจากการสำรวจการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการรับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ยกเว้นค่าโอน 2% เหลือ 0.01% ยกเว้นค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ในช่วง 6 เดือน สิ้นสุด 30 เม.ย. 2559 ปรากฏว่าเจ้าของโครงการส่วนใหญ่เบนเข็มเร่งลงทุนโครงการแนวราบมากขึ้น ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ เพราะส่งมอบได้เร็วภายใน 3-4 เดือน ต่างจากคอนโดฯ ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานข้ามปี

 

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯที่ภาครัฐทำมาช่วงนี้ถือว่าเห็นผลบวกแล้ว โดยเฉพาะการเร่งโอนที่น่าจะทำให้ยอดขายรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้เป็น 13% จากคาดการณ์เดิมมีเพียง 5% ในปีนี้ ขณะที่ยอดขายบ้านในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่คาดเติบโตเพียง 3.1 แสนล้านบาท ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดขาย 2.9 แสนล้านบาท และปีหน้าคาดว่าภาคอสังหาฯจะเติบโตอีกราว 5-10%

"มาตรการดังกล่าวถือว่าสร้างความคึกคักให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาสแรกปีหน้า" นายประเสริฐกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ผลของมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯจะช่วยพยุงตลาดอสังหาฯที่ชะลอตัวจากภาวะกำลังซื้ออ่อนแรง ขณะที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายเพิ่มสูงขึ้น โดยผลสำรวจของ AREA พบว่า จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา มีประมาณ 1.78 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น 6.7% จากสิ้นปี 2557 ที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายประมาณ 1.67 แสนหน่วย นอกจากนี้ยังประเมินอีกว่า ไตรมาส 4 นี้จะเห็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นประมาณ 35,900 หน่วย เติบโตประมาณ 11.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วง 9 เดือนแรกที่การโอนกรรมสิทธิ์น่าจะหดตัว 8%

ส่วนด้านผู้ซื้อที่มีรายได้น้อยก็สามารถขอสินเชื่อเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ จะทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงโค้งท้ายปีนี้ ขยายตัวสูง 10.5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเป็นการดึงความต้องการบริโภคล่วงหน้าของผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องติดตามผลของกลุ่มผู้ซื้อบ้านที่เป็นกลุ่มรายได้น้อยจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น โดยประเมินภาพรวมของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เข้าสู่ 82.5% ต่อจีดีพี จากสิ้นไตรมาสอยู่ที่สัดส่วน 80.6% ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่มาจากสินเชื่ออสังหาฯมีสัดส่วน 30% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1445339523
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 ตุลาคม 2558