ดันกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถึงไหน รัฐใช้แผนสองสั่งมหาดไทยออก พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เปิดช่องจัดเก็บภาษีเข้าท้องถิ่นเพิ่ม "อนุพงษ์" ไฟเขียวส่งต่อ "ประวิตร" ดันเข้า ครม.เร่งด่วน ประกาศใช้เดือน ม.ค. 59 เจ้าของที่ดินแจ็กพอต ที่เกษตรกรรมรับภาระเพิ่ม 10-15 เท่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดนโขกภาษีจากเดิม 40 เท่า แลนด์ลอร์ด "กทม. หัวเมืองหลัก เมืองรอง" หนาว หน่วยงานท้องถิ่นระรื่นถ้วนหน้ารับเพิ่มปีละ 1-1.9 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เตรียมเสนอขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งจะจัดเก็บจากผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ อปท. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพิ่มขึ้น ให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอต่อการพัฒนา ลดภาระการของบประมาณจากส่วนกลาง และลดภาระประชาชน จากปัจจุบัน อปท.จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ทั่วประเทศได้แค่ปีละ 900 ล้านบาท แนวทางดำเนินการจะเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ก่อนออกกฎกระทรวงใช้ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2559 นี้ ส่วนหนึ่งมาจากยังไม่สามารถผลักดันบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หารายได้เข้าท้องถิ่นทดแทนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน
"อนุพงษ์" ไฟเขียวเก็บภาษีเพิ่ม
ขณะนี้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ฯ ได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว และ รมว.มหาดไทยได้เสนอเรื่องทั้งหมดให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเสนอบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบจะมีผลบังคับใช้ทันที จากนั้นจะออกกฎกระทรวงแก้ไขบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ท้าย พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ฯ สำหรับใช้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ปี 2559 โดยอิงราคาปานกลางของที่ดินที่มหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด รวมทั้ง กทม. เมืองพัทยา สำรวจจัดทำราคาปานกลางของที่ดินรอบปี 2559-2562 รองรับไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน สาระสำคัญของกฎกระทรวงจะกำหนดให้ปรับลดอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ลงเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะหากให้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราเดิมตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.เดิม ผู้เสียภาษีจะมีภาระมากเกินไป เนื่องจากราคาปานกลางของที่ดินใหม่รอบปี 2559-2562 สูงขึ้นจากราคาปานกลางรอบปี 2521-2524 มาก เนื่องจากเวลาผ่านมานาน 37-38 ปีแล้ว ทุกพื้นที่เจริญขึ้นมาก
กทม.รีดภาษีเพิ่มปีละ 5 พันล้าน
นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งรัดการปรับขึ้นอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ที่บังคับใช้มานานแล้วให้เป็นอัตราปัจจุบันมากขึ้น ล่าสุด ในส่วนของภาษีบำรุงท้องที่ กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างแก้กฎหมายเพื่อกำหนดการประเมินราคาของที่ดินอัตราภาษีใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จะมีผลบังคับใช้เร็วสุดเดือน ม.ค. 2559 หรืออย่างช้า ม.ค. 2560
รายงานข่าวแจ้งว่า นโยบายของผู้บริหาร กทม.ได้ตั้งเป้ารายรับเพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท โดยปี 2559 ตั้งไว้ที่ 70,000 ล้านบาท ปี 2559 ที่ 75,000 ล้านบาท ปี 2560 ที่ 80,000 ล้านบาท โดยจะเก็บภาษีโรงเรือนเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีคอนโดฯ เกิดขึ้นจำนวนมาก คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าของราคาทุนทรัพย์ จากการจัดเก็บสถิติผู้มาเสียภาษีในช่วง ต.ค. 2557-มี.ค. 2558 มีผู้มาเสียภาษีโรงเรือน 82,439 ราย ภาษีบำรุงท้องที่ 93,403 ราย
คลังหนุนมหาดไทยทำทันที
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังอยู่ระหว่างการทบทวนโดยกระทรวงการคลัง แต่รัฐบาลมีแนวทางให้มหาดไทยปรับราคาปานกลางของที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น ระหว่างเสนอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่ผ่าน หรือผ่านแล้วแต่ยังไม่ใช้บังคับ ช่วง 2-3 ปีแรกที่ให้เวลาปรับตัว เนื่องจากราคาปานกลางที่ดินที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นราคาเก่าใช้มาตั้งแต่ปี 2521 หากมหาดไทยปรับจริง จะทำได้เร็ว และบังคับใช้ในระหว่างที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่มีผล ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ครม.มีมติให้มีการปรับอัตราภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ปี 2556 โดยให้ปรับฐานภาษี เพราะตั้งแต่ปี 2529 ที่ประกาศให้ใช้ฐานราคาปานกลางที่ดินของปี 2521-2524 ยังไม่เคยมีการปรับปรุงอีกเลย จึงขอให้ใช้ฐานเดิมอีกปีในปี 2557 เป็นปีสุดท้าย เพราะรัฐบาลกำลังผลักดันร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่มหาดไทยทำไม่เสร็จ ขยายต่ออีก 1 ปี ทั้ง ๆ ที่ปี 2558 นี้ควรใช้ฐานปัจจุบันจัดเก็บภาษีแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ
สาเหตุมาจากการปรับฐานเป็นปัจจุบันจะทำให้ภาระภาษีเพิ่มขึ้น 100-500 เท่า หรือ 300 เท่าโดยเฉลี่ย หวั่นกระแสต้านจึงไม่กล้าปรับ นอกจากนี้คลังได้เสนอให้ปรับในอัตรา 3% เพราะจะกระทบน้อยกว่า เช่น เคยเสียไร่ละ 5 บาท ก็เพิ่มเป็น 9 บาท เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444988190
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 ตุลาคม 2558