อสังหาชานเมืองล้น4.5แสนล. แนวสายสีม่วงเหลือเยอะ ค่ายยักษ์ชะลอโครงการ

อสังหาฯ จมดิ่ง ชี้กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเหลือขาย 1.4 แสนยูนิต มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท โอเวอร์ซัพพลาย 32% "บางพลี" ครองแชมป์แนวราบเหลือเยอะสุด 5,490 หน่วย ส่วน "เมืองนนท์" คอนโดฯล้นทะลัก 8,339 หน่วย ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว รอจุดสมดุล หลังตลาดขายอืด "เอสซี-อนันดา" เบรกแกรนด์โอเพนนิ่ง ลดงบฯซื้อที่ดิน หยุดจัดอีเวนต์ใหญ่ เผยมู้ดตลาดได้ไม่คุ้มเสีย "พฤกษา-เสนาฯ" เลื่อนเปิดโครงการเพียบ

1

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC เปิดเผยว่า ผลสำรวจที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงครึ่งปี 2558 แยกเป็นโครงการแนวราบ 1.98 แสนหน่วย มูลค่า 8.14 แสนล้านบาท และโครงการแนวสูง 2.04 แสนหน่วย มูลค่า 5.97 แสนล้านบาท ซึ่งอสังหาฯใน กทม. คิดเป็น 60% ของตลาดทั้งประเทศ

ที่น่าสนใจคือ มีหน่วยเหลือขายทั้งหมด 1.34 แสนหน่วย มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 32% ในผังโครงการทั้งหมด เป็นแนวราบ 7.7 หมื่นหน่วย มูลค่า 3 แสนล้านบาท หรือ 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีหน่วยบ้านแนวราบเหลือขาย 7.85 หมื่นหน่วย ถือว่าลดลงเล็กน้อย

ส่วนแนวสูงมีเหลือขาย 5.74 หมื่นหน่วย มูลค่า 1.55 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของโครงการแนวสูงในผัง ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บางพลี-เมืองนนท์เหลือบานเบอะ

ทั้งนี้ "ทำเล" ที่เหลือขายมากที่สุด 3 อันดับแรก แยกเป็นแนวราบ คือ อ.บางพลี 5,490 ยูนิต, อ.บางบัวทอง 5,379 ยูนิต และ อ.ลำลูกกา 5,011 ยูนิต และแนวสูง คือ อ.เมืองนนทบุรี 8,339 ยูนิต, อ.ธัญบุรี 6,419 ยูนิต และ อ.เมืองสมุทรปราการ 5,722 ยูนิต เท่ากับว่าย่านชานเมือง หรือจังหวัดปริมณฑล มีบ้านและคอนโดมิเนียมรอขายมากที่สุด

นายสัมมากล่าวว่า ทำเลแนวราบที่เปิดขายและเหลือขายมากใน อ.บางพลี เกิดจากราคาที่ดินดิบยังไม่แพงมากนัก ทำให้เอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท จำนวนมาก ส่วน อ.เมืองนนทบุรี เป็นเพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) พาดผ่าน ทำให้เอกชนเปิดขายโครงการใหม่ปีละกว่า 1 หมื่นยูนิต ติดต่อกัน 5 ปี แต่ปี 2558 ตลาดเริ่มอิ่มตัว การขายชะลอ ซึ่งต้องรอประเมินอีกครั้งหลังรถไฟฟ้าเปิดใช้ปีหน้า

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยูนิตเหลือขายใน กทม.และปริมณฑล 32% ไม่น่ากังวล แต่ที่โอเวอร์ซัพพลายจริง คือภูเก็ต และเมืองพัทยา โครงการแนวสูงเปิดตัวมากกว่าดีมานด์ตลาด คาดต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการดูดซับ

ธนารักษ์เปิดโพยที่ดิน กทม.

นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีด้านบริหาร กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ราคาประเมินที่ดินใหม่จะบังคับใช้ปี 2559-2562 เริ่ม 1 ม.ค. 59 มีข้อมูลไม่เป็นทางการระบุว่า ทำเลที่แพงสุดคือสีลม ราคาสูงสุด 1 ล้านบาท/ตร.ว. ส่วนที่ปรับเพิ่มมากที่สุดคือสาขาพระโขนง ปรับเพิ่ม 33.54% จตุจักร ปรับเพิ่ม 29.75% และบางกะปิ ปรับเพิ่ม 27.73% เฉลี่ย กทม.ปรับเพิ่ม 15.78%

แนวรถไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มน่าสนใจ คือ
1) แนวบีทีเอส ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่ ช่วง ถ.พหลโยธิน ราคาที่ดินสูงสุด 2.8 แสนบาท/ตร.ว. ราคาเฉลี่ย 2.1 แสนบาท/ตร.ว.

2) แนวบีทีเอส สถานีราชดำริ-สีลม-กรุงธนบุรี ผ่านถนนสายสำคัญ เช่น ถ.สีลม ถ.สาทร ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ราคาประเมินสูงสุด 7.59 แสนบาท/ตร.ว. ราคาเฉลี่ยทำเล 8.2 หมื่นบาท/ตร.ว.
3) แนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน แยกจรัญสนิทวงศ์ ถ.เพชรเกษม ถ.ประชาราษฎร์ ราคาสูงสุด 1.9 แสนบาท/ตร.ว. เฉลี่ย 1.7 แสนบาท/ตร.ว.

4) แนวรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ราคาสูงสุด 2.4 แสนบาท/ตร.ว. เฉลี่ย 2.2 แสนบาท/ตร.ว.

5) แนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ราคาเฉลี่ย 8.5 หมื่นบาท/ตร.ว. และ 6) แนวรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ถ.วิภาวดีรังสิต ราคาสูงสุด 2.2 แสนบาท/ตร.ว. เฉลี่ย 1.7 แสนบาท/ตร.ว.

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1446213017
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 31 ตุลาคม 2558