ร.ฟ.ท.ยุค‘คสช.’เร่งสร้างรายได้ ดันที่ดินแปลงเล็ก/ใหญ่ต่อยอดเชิงพาณิชย์

Cr. ฐานเศรษฐกิจ 15 มีนาคม 2559

สราวุธ เบญจกุลประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

สราวุธ เบญจกุล
ประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

แม้จะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องแต่ก็ดูเหมือนว่าข้อมูลแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังถูกกระตุ้นให้ขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและปลดภาระหนี้ของรฟท. “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สัมภาษณ์ สราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถึงการเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.ทั้ง 45 โครงการใน 7 ยุทธศาสตร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แผนปฏิบัติการฟื้นฟูกิจการรฟท.คืบ

ขณะนี้มีความคืบหน้าในหลายส่วนทั้งเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดี การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงบริการ และเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า การเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร การปรับปรุงระบบบริหารทรัพย์สินเพื่อแก้ไขภาระทางการเงิน การยกระดับความปลอดภัยของขบวนรถตลอดจนการพัฒนาใหม่ๆ เพื่อการเพิ่มรายได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ในส่วนเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมดนั้นให้ดำเนินการทั้งแปลงย่อยและแปลงใหญ่ควบคู่กันไปเพื่อให้ก่อเกิดรายได้ ป้องกันการบุกรุก จะต้องให้มีการกำกับที่ดีเพื่อไม่ให้รฟท.เสียประโยชน์ ล่าสุดพบว่ามีการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างหน่วยบริหารทรัพย์สินเพื่อให้สร้างรายได้จากกรณีบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นจัดอยู่ในหลักเกณฑ์ประเมินผลงานของผู้ว่ารฟท.ด้วย โดยเฉพาะแปลงมักกะสันก็ยังรอกระทรวงการคลังอนุมัติงบประมาณ 3 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นค่าดำเนินการย้ายโรงงานออกไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยจะทยอยส่งมอบเป็นรายแปลง เช่นเดียวกับแปลงสถานีกลางบางซื่อก็อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาเรื่องการพัฒนาโครงการและเร่งก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

เรื่องการขนส่งสินค้าก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ล่าสุดหัวรถจักรที่ได้มา 20 หัวก็ได้เร่งขนส่งสินค้าตามแผนเพื่อให้เพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สถานีทุ่งสงได้พัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ (คอนเทนเนอร์ยาร์ด)ในพื้นที่ภาคใต้โดยเทศบาลเมืองทุ่งสงทำสัญญาการพัฒนาดังกล่าว สามารถขนส่งสินค้าส่งไปยังท่าเรือปีนังได้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ให้เห็นผลชัดเจนตามไปด้วย เช่นเดียวกับที่ไอซีดีลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องกั้นอัตโนมัติ ระบบอาณัติสัญญาณ การปรับปรุงทางมีความคืบหน้าอย่างมาก ล่าสุดบอร์ดก็ได้อนุมัติให้ดำเนินการภายใต้งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนที่ค้างประมาณ 400 จุดนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น”

สำหรับในส่วนระบบควบคุมและบริหารจัดการนั้นจะมีการนำเอาระบบบัญชีไปใช้ในงานบัญชีและระบบบริหารจัดการทรัพย์สินมากขึ้นเพื่อให้กระบวนการรับรองงานบัญชีของรฟท.มีมาตรฐาน อีกทั้งงานจัดระบบบริหารทรัพย์สินก็ได้ร่วมกับกรมธนารักษ์ดำเนินการมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ขณะนี้มองว่าจะสามารถนำข้อมูลทั้งหมดนั้นมาต่อยอดหาประโยชน์จากการบริหารทรัพย์สินให้รฟท.ได้อย่างไร

“แผนการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถจักรดีเซลอัลสตอมจำนวน 10 คันส่งผลให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้เครื่องละ 2.2 ล้านบาทต่อปี สภาพความพร้อมใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 72% เป็น 85% ลดสถิติความชำรุดด้านเครื่องยนต์จาก 12 ครั้งต่อเดือนเหลือ 1 ครั้งต่อเดือนรายได้จากการเดินขบวนรถโดยสารและสินค้าเฉลี่ยวันละ 2 แสนบาทเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 72 ล้านบาท โดยได้ให้มีการรายงานความคืบหน้าของแผนยุทธศาสตร์ในที่ประชุมบอร์ดรฟท.ทุกเดือน ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้กระบวนการติดตามได้ต่อเนื่อง ชัดเจนว่ามีอุปสรรคอย่างไรบ้าง รฟท.จึงเร่งใส่ตัวบุคลากรเข้าไปในแต่ละโครงการ/แผนงานให้ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพรวดเร็วขึ้น”

เตรียมเชื่อมท่าเรือ-รถบรรทุก

ล่าสุดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางคือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยและเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งจัดประกวดราคาหากได้รับการรับรองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้วต่อไป ทั้งนี้ในส่วนการเช่า 20 หัวรถจักรนั้นขณะนี้ยังไม่คืบหน้าเนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาความเหมาะสม แต่ช่วงประมาณเดือนมิถุนายนนี้รฟท.จะได้รับขบวนรถใหม่จำนวน 115 ขบวนที่เซ็นสัญญาสั่งซื้อไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็จะทยอยนำไปให้บริการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางต่างๆ ซึ่งรฟท.จะต้องทำแผนรายงานให้บอร์ดรับทราบเช่นเดียวกับกรณี 20 หัวรถจักรว่าจะสร้างประสิทธิภาพได้อย่างไร

เบื้องต้นรฟท.ได้ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่เรียบร้อยแล้วสามารถลดขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าได้อย่างมาก เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเรื่องการขนส่งสินค้าก็จะมีการร่วมหารือกับหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานด้านการขนส่งสินค้าต่างๆ อาทิ รถบรรทุก เพื่อบูรณาการทุกฝ่ายเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งของประเทศมาสู่ระบบรางให้เกิดประสิทธิภาพ ลดการขนส่งทางถนนเพื่อที่จะให้เป็นการยกระดับการบริหารให้เห็นประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนขบวนรถเก่าที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันก็จะนำไปเพิ่มในเส้นทางย่อยให้ระยะถี่ขึ้น

“ล่าสุดได้กำชับให้ฝ่ายการพาณิชย์ทำงานเชิงรุกเข้าหาลูกค้าในแต่ละภูมิภาคให้สามารถเข้าถึงบริการของรฟท.มากขึ้น ส่งเสริมการขนส่งทางรางให้เกิดประสิทธิภาพตามนโยบายการส่งเสริมโลจิสติกส์ของรัฐบาล” นายสราวุธ กล่าวในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2559